hit counter

Conflict Resolution Management เห็นต่าง vs. ขัดแย้ง:จัดการกับความขัดแย้งอย่างไร

เห็นต่าง vs. ขัดแย้ง: จะรับมือกับความขัดแย้งอย่างไร

ในสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความเห็นต่างและความขัดแย้งที่เราได้เห็นได้ยินกันอยู่ทุกวันจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง จะเป็นการดีกว่าหากเรามาทำความเข้าใจความแตกต่างของความเห็นต่าง (Difference) กับความขัดแย้ง (Conflict) และเข้าใจที่มาของการเกิดความขัดแย้ง เพื่อที่จะหาทางจัดการ แก้ไขหรือแม้แต่เปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือร่วมใจกัน

เห็นต่างกับขัดแย้ง ต่างกันอย่างไร

ความเห็นต่าง อาจเกิดได้จาก

  • มีความคิดเห็นที่แตกต่าง
  • ไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย
  • มีมุมมองต่างกัน
  • เป้าหมายไม่สอดคล้องกัน
  • ให้ลำดับความสำคัญต่างกัน

ในการทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือในองค์กร ความเห็นต่างถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เพราะในโลกการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ทุกองค์กรต่างต้องการความหลากหลาย (Diversity) คือความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างจากกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆหรือสร้างวิธีปฏิบัติใหม่ที่สร้างสรรค์และฉีกหนีจากคู่แข่ง

 ความขัดแย้ง คือความไม่ลงรอยกัน การไม่เห็นพ้องต้องกัน ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอันเกิดจาก ความคิด ความรู้สึก การกระทำ ที่มาจากความต้องการ ค่านิยม ความเชื่อ และประสบการณ์ที่ต่างกัน

ความเห็นต่างมักจะข้ามไปเป็นความขัดแย้งเมื่อมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง พอมีอารมณ์เข้ามาก็กลายเป็นเรื่องส่วนตัวคือมีตัวตนหรือ Ego เข้ามา จากนั้นเหตุผลก็เริ่มใช้การไม่ได้ เป้าหมายที่เคยตั้งไว้หรือเคยต้องการก็เริ่มหายไป มีแต่ความอยากเอาชนะเข้ามาแทนที่ หรือในบางคนที่มีบุคลิกภาพตรงกันข้าม เมื่อเกิดความขัดแย้งก็อยากจะหลีกเลี่ยง อยากหลบไม่อยากพูดคุยหรือเกี่ยวข้องกับอีกฝ่าย

ตัวอย่างความขัดแย้งที่เกิดได้ในชีวิตประจำวันของคนเรา เช่นมีรถขับมาจอดขวางประตูหน้าบ้าน

เจ้าของบ้านอาจคิดว่า เฮ้ย..มาจอดได้ยังไงเนี่ยหน้าบ้านคนอื่นแล้วฉันจะเข้าออกยังไง  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะคิดว่าขอจอดแป๊บเดียวเอง ทำธุระเสร็จก็จะไปแล้ว  นี่คือคิดต่างกัน มุมมองต่างกัน และผลประโยชน์หรือเป้าหมายก็ต่างกันด้วย   ในฐานะเจ้าของบ้านก็อาจคิดว่านี่ไม่เคารพสิทธิ์คนอื่นนี่นา ไม่มีมารยาทเลย  พอก็คิดแบบนี้ก็เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจหรือถึงขั้นโมโห จากนั้นก็เดินไปหาเจ้าของรถ ถ้าเจ้าของบ้านจัดการอารมณ์ตัวเองได้ก็จะบอกกันดีๆด้วยภาษาสุภาพก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น  แต่ถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็มีการต่อว่าต่อขาน กล่าวโทษเจ้าของรถแบบรุนแรง ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งไปทันทีจนอาจถึงขั้นมีเรื่องมีราวกันได้

ลองสังเกตดูความขัดแย้งรอบๆตัวเรา จะพบว่าองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้แก่

  • อารมณ์ที่ถูกกระตุ้นโดยสถานการณ์หรือเหตุการณ์: หงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจ กล่าวโทษ
  • มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ความคิดเห็น มุมมองที่แตกต่าง
  • ผลลัพธ์ที่ต้องการไม่ตรงกัน

 

วงจรการเกิดความขัดแย้ง

 

วงจรนี้ดัดแปลงมาจาก Cognitive Model โดย Dr. Aaron T. Beck ที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆในกระบวนการบำบัดแบบ Cognitive Behavior Therapy อธิบายแบบง่ายๆได้ว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ส่งผลต่อความคิดหรือการตีความของคน เมื่อมีความคิดหรือการแปลความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรม และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากตัวอย่างเรื่องมีคนมาจอดรถขวางทางหน้าบ้าน  ทันทีที่เจ้าของบ้านคิดว่าเจ้าของรถไม่เคารพสิทธิและไม่มีมารยาทก็จะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ หรือโมโหตามมา และพฤติกรรมต่อมาก็คือเดินไปหาเจ้าของรถ  แน่นอนว่าถ้าความหงุดหงิดนั้นรุนแรงมากพอ การต่อว่าต่อขานหรือกล่าวโทษจะเกิดขึ้นและเป็นที่มาของความขัดแย้งรุนแรง

จะเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกมีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดความขัดแย้ง  เวลาทำงานในองค์กรเรามักจะได้ยินพูดกันบ่อยๆว่าอย่าไปใส่ใจกับความรู้สึกมากนัก ให้ใช้เหตุผลทำงานกันดีกว่า   แต่ในความเป็นจริงความรู้สึกนี่แหละที่เป็นตัวสำคัญที่จะต้องดูแลให้ดี   ถ้าสังเกตและทำความเข้าใจดีๆจะพบว่าความรู้สึกคือการแสดงออกถึงความต้องการที่ไม่ถูกเติมเต็ม (Unfulfilled needs) และมันเป็นอาการสำคัญของความขัดแย้ง

การที่เราไม่ได้สนใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น ทำให้ไม่ได้ระวังความรู้สึกของตัวเองและไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะสังเกตเห็นความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้ขาดการสื่อสารที่ดีและทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่

การที่จะจัดการแก้ไขความขัดแย้ง เรื่องสำคัญคือต้องมีความตระหนักรู้ทางอารมณ์หรือ Emotional Awareness คือการมีสติรับรู้อารมณ์ตนเองและควบคุมความรู้สึกนั้นได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสื่อสารเพื่อแก้ไขความขัดแย้งนั่นเอง  เป็นที่น่ายินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) กันมากขึ้นโดยเฉพาะผู้นำในองค์กรต่างๆที่จำเป็นต้องมีทักษะนี้ จึงมีความเข้าใจความสำคัญและเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์กันมากขึ้น

ความขัดแย้งในการทำงานและเทคนิคการแก้ไขความขัดแย้ง

ความขัดแย้งในการทำงานเกิดขึ้นได้ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง  ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง สาเหตุของความขัดแย้งมีหลากหลายและหลักๆมักมาจากเรื่องเหล่านี้

  1. Personal Conflict ความขัดแย้งส่วนตัว: อาจเกิดจากการเป็นคนต่างประเภทกันเช่นบางคนชอบควบคุมสั่งการ บางคนชอบอยู่เงียบๆ หรืออาจเกิดการกระทบกระทั่งด้วยคำพูดทำให้รู้สึกไม่ถูกชะตากัน
  2. Goal Conflict เป้าหมายไม่ตรงกัน: ในองค์กรที่มีหลายแผนกและแต่ละแผนกมีเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จต่างกัน เช่นฝ่ายขายเน้นการทำยอดขายให้ถึงเป้า ต้องการส่งสินค้าถึงลูกค้าให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ขณะที่ฝ่ายผลิตให้ความสำคัญกับการวางแผนวัตถุดิบ กำลังคนและคุณภาพสินค้า อาจไม่สามารถเร่งการผลิตได้ตามที่ฝ่ายขายต้องการ
  3. Resource Allocation การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด เช่นงบประมาณ กำลังคน วัสดุ แต่ละแผนกต่างมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้ แต่อาจได้รับการจัดสรรให้ไม่เท่ากัน เช่นฝ่ายผลิตต้องการจ้างพนักงานเพิ่มเพราะผลิตไม่ทันและต้องทำ OT ตลอด แต่แผนก R&D ต้องทำวิจัยผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ให้ได้ผลออกมาทันภายในไตรมาสนี้ จำเป็นต้องใช้งบซื้อเครื่องมือทำแลป จึงเกิดการแย่งใช้งบประมาณกัน
  4. Organizational Clarity โครงสร้างองค์กร บทบาท ขอบเขตความรับผิดชอบ บางครั้งอาจมีความไม่ชัดเจน ทำให้มีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่และขอบเขตความรับผิดชอบ
  5. Change Management การเปลี่ยนแปลงนโยบาย วิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาวะโลกและธุรกิจที่เปลี่ยนไป แต่อาจมีบุคคลากรบางส่วนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและยังคงอยากทำแบบเดิม ๆ ทำให้มีการต่อต้านนโยบายใหม่
  6. Culture Difference ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในองค์กรหรือหน่วยงานที่มีคนหลากหลายชาติทำงานด้วยกันทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันได้ง่าย

 
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นและไม่มีความพยายามมากพอที่จะแก้ไขหรือทำความเข้าใจกันอย่างทันท่วงที ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกและพร้อมที่จะกล่าวโทษหรือตำหนิอีกฝ่าย  พยายามจะหาพวกมายืนยันความถูกของตนเองและต้องการจะเอาชนะอีกฝ่าย ความขัดแย้งในองค์กรมักมีผลกระทบเชิงลบตามมามากมายเช่น

  • ความไม่เชื่อใจกัน
  • บรรยากาศไม่เป็นมิตร มีการจับผิด กล่าวโทษ บ่นว่ากันและกัน
  • มีความเครียดสูง เต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม
  • เป้าหมายร่วมถูกละทิ้ง
  • ต่างฝ่ายต่างปกป้องตัวเอง
  • การใช้อำนาจเพื่อเอาชนะ
  • แบ่งขั้ว แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดการเมือง เกิดดรามาในที่ทำงาน
  • แตกความสามัคคี องค์กรไร้เสถียรภาพ เสียโอกาสในการแข่งขัน
  • สูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพไปจากองค์กร

 

เทคนิคจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict Resolution Management)

การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการหาทางออกร่วมกันในแบบที่มีความร่วมมือร่วมใจจากทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ win-win ไปด้วยกัน  คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายอาจเป็นผู้เริ่มต้นในการนัดหมายพูดคุยทำความเข้าใจกันเอง หรืออาจต้องใช้ตัวกลางช่วยประสาน เช่นผู้จัดการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานในการนัดพูดคุยกันระหว่างพนักงานสองคนหรือสองกลุ่มที่มีความขัดแย้งกัน การแก้ปัญหาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้แก้ไขความขัดแย้งด้วยตนเองหรือเป็นตัวกลางก็ตาม สามารถที่จะเริ่มด้วยการปรับใช้ทักษะเหล่านี้

  1. Earlier is better จัดการแต่เนิ่น ๆเมื่อเริ่มเห็นความขัดแย้ง

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ควรรีบนัดพูดคุยแบบเปิดใจเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว ก่อนที่จะเริ่มมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนอาจกลายเป็นการเมืองในองค์กร และทำให้ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายยากที่จะแก้ไข

  1. Emotional Awarenessรู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ตนเอง

การรู้ตนเองว่ากำลังมีอารมณ์เชิงลบอยู่ในขณะที่เกิดความขัดแย้งและมีสติควบคุมได้จะเป็นการช่วยหยุดวงจรความขัดแย้งได้อย่างดี ถึงแม้จะไม่ง่ายแต่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะขั้นพื้นฐาน เช่นการหายใจลึกๆเพื่อการรู้ตัว (Deep Breath) การมีพื้นที่และเวลาพักอารมณ์เพื่อให้กลับมารู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้โดยไม่รีบโต้กลับอีกฝ่ายในขณะที่อารมณ์ยังร้อนอยู่

  1. Positive Communication สื่อสารเชิงบวกและไม่กล่าวโทษผู้อื่น

เรามักได้ยินการกล่าวโทษผู้อื่นเพื่อแสดงว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกอยู่บ่อยๆ วิธีนี้เป็นการกระตุ้นอารมณ์อีกฝ่ายและยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นไปอีก ควรใช้การสื่อสารที่บอกความต้องการของตนเองตรงๆโดยไม่อ้อมค้อมหรือข้ามเส้นไปกล่าวโทษหรือเสียดสีผู้อื่น เช่นพูดว่า “ฉันอยากให้คุณไว้ใจฉันในการทำงาน” แทนที่จะพูดว่า ”คุณเลิกจู้จี้จุกจิกตรวจสอบการทำงานของฉันไปซะทุกเรื่องได้มั้ย”

  1. Practice Active Listening ฝึกการฟังแบบตั้งใจและเข้าใจ

การฟังเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขความขัดแย้ง ฝึกฟังแบบตั้งใจและพยายามเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย สังเกตสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงและภาษากายเพื่อเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังความต้องการนั้น จะทำให้เข้าถึงอีกฝ่ายได้ลึกซึ้งขึ้น

  1. Show Empathy เข้าอกเข้าใจผู้อื่น

เมื่อฟังได้ยินความต้องการและมุมมองของอีกฝ่าย อย่าลืมแสดงความเข้าใจในตัวเขาอย่างแท้จริงโดยไม่เสแสร้ง อีกฝ่ายจะรู้สึกได้ว่าความต้องการของเขาถูกรับฟังและเขาก็จะเปิดการฟังให้เรามากขึ้นด้วยเช่นกัน

  1. Commit to Collaboration มุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกันแบบ win-win

การจัดการแก้ไขความขัดแย้งอาจต้องใช้เวลาและมีการพูดคุยสื่อสารกันหลายครั้ง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดคือความตั้งใจที่จะให้ทั้ง2 ฝ่ายได้บรรลุความต้องการของตนเองในลักษณะ win-win ไปด้วยกันและสร้างความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันต่อไป

สรุป

ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการทำงานตราบใดที่สามารถจัดการให้ไม่ข้ามฝั่งกลายมาเป็นความขัดแย้ง ซึ่งตัวกระตุ้นความขัดแย้งที่สำคัญคืออารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกับตัวตนและการเป็นผู้แพ้-ชนะ  การแก้ไขความขัดแย้งควรจะต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มแรกโดยจะต้องพยายามฟังและเข้าอกเข้าใจความต้องการและมุมมองของอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะหาวิธีทำให้ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความต้องการในแบบที่ร่วมมือกันและชนะไปด้วยกัน