ในที่ทำงานเราอาจเคยได้ยินหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานพูดกันทำนองว่า เวลาทำงานอยากให้ใช้เหตุผลเป็นหลัก อย่าใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกมากนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึก และมักแสดงออกถึงความรู้สึกนั้นในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ
ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ตัวเองและยิ่งไปกว่านั้น หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ก็คงจะก่อให้เกิดมลภาวะทางอารมณ์ในที่ทำงานมากมาย และทำให้เสียบรรยากาศการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย
การรู้จักและสามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) สำคัญอย่างไร
ในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าคนที่มี IQ (Intelligence Quotient) สูง จะเก่งทุกเรื่องและเพราะหัวดีจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าคนที่ IQ อยู่ในระดับธรรมดา ต้องขอบคุณนักจิตวิทยาหลายๆท่านที่ได้พยายามศึกษาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือเรียกง่ายๆว่า EQ มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 และค้นพบว่าคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์หรือมี EQ ดี มีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์และรับมือกับปัญหาต่างๆได้ดีที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่า
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือ EQ คืออะไร?
คือความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตนเอง รวมถึงความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น และส่งผลต่อบรรยากาศในที่ทำงานรวมถึงสุขภาวะที่ดีด้วย
มีนักจิตวิทยาระดับโลกหลายท่านที่ได้ศึกษาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์และเผยแพร่ความรู้นี้ต่อสาธารณะ แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากก็เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ “Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ ” โดย Daniel Goleman ในปี 1995 ทำให้ EQ เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับว่ามีความสำคัญตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างก็ให้ความสนใจศึกษาและพัฒนาทักษะความฉลาดทางอารมณ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ผู้บริหาร มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีทักษะด้าน EQ สูง เพื่อที่จะได้เข้าใจตนเองและสามารถเข้าใจผู้อื่นและนำผู้อื่นไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ครอบคลุมด้านใดบ้าง?
ความฉลาดทางอารมณ์ตาม concept ของ Daniel Goleman ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 5 ประการคือ
1.Self-Awareness: ความสามารถรับรู้ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง และรู้ว่าอารมณ์นั้นส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมอย่างไร การตระหนักรู้นี้ทำให้สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองในสภาวะต่างๆได้
2.Self-Regulation: เมื่อรับรู้เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกตนเองแล้ว สามารถควบคุม จัดการกับอารมณ์ตนเองให้สงบได้แม้ภายใต้ภาวะกดดัน สามารถปรับอารมณ์ สติและพฤติกรรมของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นไว้ได้
3.Motivation: แรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จอาจมาจากทั้งปัจจัยภายนอกเช่นเงินทอง ของรางวัล หรือมาจากปัจจัยภายในเช่น Passion คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงมักรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจและแรงผลักดันของตนเอง รู้จักสร้างขวัญกำลังใจให้ตนเอง มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อเพื่อนำตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
4.Empathy: ความสามารถที่จะเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกผู้อื่น และเข้าใจมุมมองของผู้อื่นเสมือนว่านำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น หรือที่สำนวนฝรั่งพูดว่า Put yourself in others’ shoes เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงบวกกับผู้อื่น
5.Social Skills: ความสามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคม รวมถึงการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความร่วมมือร่วมมือที่ดี สิ่งนี้จะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานและสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เกื้อกูลกัน
ทำไมคนมีความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQสูง จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จและมีสุขภาวะที่ดีมากกว่า?
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล: คนที่มี EQ ดีมักจะมีการสื่อสารที่ชัดเจน รับฟัง เข้าอกเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของคนอื่นทำให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ดี เป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากผู้อื่น
ความเป็นผู้นำและการสร้างทีม: ผู้นำที่มี EQ ดีมักรู้จักและเข้าใจตนเองดี รู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งและความสามารถอะไรจึงตัดสินใจเรื่องต่างๆได้ดี สามารถสร้างแรงบันดาลใจ inspire ผู้อื่นจนได้รับความเชื่อถือและยอมรับจากคนในทีม ทำให้เกิดบรรยากาศเชิงบวกในการทำงาน สร้างความร่วมมือร่วมใจและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
การจัดการความเครียด: คนที่มีEQ สูงมักจะมีทัศนคติเชิงบวก มองโลกในแง่ดี มีความหวัง ถึงแม้จะมีอุปสรรคหรือความล้มเหลวในการทำงาน แต่สามารถจัดการกับความเครียดและมีพลังการฟื้นตัวกลับมาใหม่ได้ สามารถเรียนรู้ ปรับแก้ไขและทำให้ดีกว่าเดิมจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
รับมือกับการเปลี่ยนแปลง: ความฉลาดทางอารมณ์เชื่อมโยงโดยตรงกับความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทุกวันนี้ ต้องปรับตัวและยืดหยุ่นสูงมากเพื่อสามารถรับมือกับเทคโนโลยีและกระบวนการแบบใหม่ หรือแม้แต่ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
สุขภาวะ: คนที่มีEQ สูงจัดการความเครียดได้ดีกว่าและยอมรับสถานการณ์ต่างๆได้ดี จึงสามารถรักษาสุขภาพทั้งกายและใจไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะเครียดหรือกดดันก็ตามก็ยังคงมีสุขภาวะและมีความสุขมากกว่า
เราจะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้สูงขึ้นได้อย่างไร
10 วิธีต่อไปนี้นี้จะช่วยพัฒนา EQ ให้สูงขึ้นได้
- ฝึกมีสติรู้ตัวบ่อยๆ เริ่มจากวิธีที่เรียบง่ายเช่นการรับรู้ลมหายใจเข้า-ออก การนั่งสมาธิ การเดิน การเล่มเกมที่ใช้สมาธิจดจ่อ
- สำรวจตัวเอง ทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองด้วยการตั้งคำถามและตอบตัวเองเพื่อสะท้อนความคิดความรู้สึก
- ถามความคิดเห็นจากคนรอบข้างและรับฟังอย่างเปิดใจ
- ฟังให้มากขึ้นและฟังอย่างตั้งใจ สังเกตภาษากาย สีหน้า อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนาเพื่อความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) อย่างลึกซึ้ง
- ฝึกอดทนเมื่อต้องรอคอย รู้จักยืดหยุ่นและยอมรับสถานการณ์ต่างๆ
- ค้นหาแรงบันดาลใจของตนเอง รู้จักจุดแข็งและคุณค่าของตนเอง
- ตั้งเป้าหมายและแบ่งเป็นเป้าหมายเล็กๆทีละขั้น เฉลิมฉลองเมื่อทำได้สำเร็จ
- มีทัศนคติเชิงบวก มองโลกแง่ดีและมีความหวังเสมอ
- พัฒนาทักษะสื่อสาร เข้าสังคมทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น สร้างเครือข่ายทางสังคม
- ดูแลรักษาสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายจิตใจด้วยงานอดิเรกที่ชอบ
เมื่อเห็นความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence แบบนี้แล้ว มาลงมือเสริมสร้างเพิ่มระดับ EQ กันเถอะ ที่สำคัญ การสร้างความฉลาดทางอารมณ์นั้นไม่สามารถเพิ่มระดับขึ้นมาได้ทันทีทันใดตามที่ต้องการ แต่จะต้องฝึกฝนบ่อยๆ ทำทุกวันจนเป็นนิสัยและเป็นทักษะที่ติดตัว ลงมือทำวันนี้เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข